Scroll to top
เศรษฐกิจพอเพียง
ความเป็นมา

ความเป็นมา

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ ระดับครอบครัวระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการ ดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (18 กรกฎาคม 2517)

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม 2517)

พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่ เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความเป็นมาของโครงการ

        การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จำเป็นต้องมีการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี จากสถาบันการศึกษา และความร่วมมือกับภาคประชาชน ผ่านหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่จะขยายผลไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันจากนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอาหารเพื่อชุมชน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากวัชพืชเหลือใช้ในพื้นที่ ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยผสมผสาน (mix methods) โดยองค์ความรู้ เทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท บนพื้นฐานของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า เทคโนโลยีให้แก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ชุมชน โดยใช้ฐานคิดจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการให้หลักการวิเคราะห์ตนเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับโมเดลเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ (Bio-Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green -Economy) โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง โดยในจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลริมใต้ ตำบลแม่สา ตำบลเหมืองแก้ว ตำบลสะลวง และตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และในจังหวัดลำปางได้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

        2.1 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันจากนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอาหารเพื่อชุมชนโดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถประยุกต์เข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง

        2.2 เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากวัชพืชเหลือใช้ในพื้นที่ ขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนโดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

        2.3 เพื่อสร้างคลังความรู้เศรษฐกิจพอเพียงและการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนรู้สาธารณะและขยายผลการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างพื้นที่สองจังหวัดและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน